หน้าแรก > ข่าวสาร > ข้อตกลงทางการศึกษาสายวิชาชีพ

ข้อตกลงทางการศึกษาสายวิชาชีพ

จากโพสต์ที่แล้วที่ให้ข่าวว่าเราได้มีการทำความตกลงทางการศึกษากับสถาบันการศึกษาในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา เลยเอารายละเอียดเพิ่มเติมมาแจ้งให้ทุกคนทราบนะครับ………

 

ศูนย์การเรียนรู้ตามแนวพ่อหลวงกรมการสื่อสารทหาร ได้หาแนวทางพัฒนาการศึกษาสายวิชาชีพให้กับ พลทหารกองประจำการ และข้าราชการทหารของกองพันทหารสื่อสารกองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งได้รับความสนับสนุนเป็นอย่างดีจาก วิทยาลัยสารพัดช่างนครหลวง และศูนย์วิศวกรรมเกษตรบางพูน

 วิทยาลัยสารพัดช่างนครหลวง สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา เป็นหน่วยงานหลักในการจัดการศึกษาวิชาชีพ และอาชีวศึกษาทั้งในระบบ และนอกระบบ และตามอัธยาศัย ส่วน ศูนย์วิศวกรรมเกษตรบางพูน องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อกท.)  เป็นองค์การของนักเรียนนักศึกษาเกษตรกรรม ดำเนินการโดยนักเรียนนักศึกษาเกษตรกรรม เพื่อนักเรียนนักศึกษาเกษตรกรรม โดยมีผู้บริหารสถานศึกษา ครูอาจารย์ให้คำแนะนำ และควบคุมดูแลรับผิดชอบ

ทั้งสองสถาบันอาศัย พรบ. การศึกษาแห่งชาติ ๒๕๔๒ เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนทางด้านอาชีวศึกษา ตามมาตราที่ ๙ วรรค ๖ กำหนดให้การจัดระบบโครงสร้างและกระบวนการจัดการศึกษาโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการและสถาบันสังคมอื่น มาตราที่ ๒๐ กำหนดให้การจัดการอาชีวศึกษา และการฝึกอบรมวิชาชีพให้จัด ในสถานศึกษาของรัฐ สถานศึกษาของเอกชน สถานประกอบการ หรือโดยความร่วมมือระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชน เป็นแนวทางในการสร้างความร่วมมือกับพวกเรา ซึ่งมีข้อดีคือพวกเราสามารถใช้ประสพการณ์งานในวิชาชีพ เช่น การทหาร การไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ การซ่อมรถยนต์ การเกษตร เป็นต้น เทียบโอนให้เป็นหน่วยวิชาเรียนได้ ทำให้สามารถศึกษาจบได้ในระยะเวลาที่ปลดประจำการ (กรณีพลทหารกองประจำการ) หรือใช้เวลาศึกษาน้อยกว่าปกติ (กรณีของข้าราชการ) พร้อมเข้าร่วมพิธีรับประกาศนียบัตรเช่นเดียวกับนักศึกษาภาคปกติทุกประการ

ในเบื้องต้นเรามีความตกลงกันจัดหลักสูตรเป็น ๓ กลุ่ม คือ

 หลักสูตร ปวช. รับสมัครจากผู้สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมต้น (ม.๓) สำหรับพลทหารไม่เสียค่าใช้จ่ายในการศึกษา (อาจมีบ้างหากเป็นการซื้อเครื่องมือช่างเครื่องใช้ส่วนตัวซึ่งสามารถนำไปใช้งานได้หลังจบการศึกษา) ตามโครงการสนับสนุนการจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ๑๕ ปี ใช้เวลาเรียนตั้งแต่ ๑ ปี ถึง ๑ ปี ๙ เดือน

 หลักสูตร ปวส. รับสมัครจากผู้สำเร็จการศึกษาในระดับ ปวช. ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรโดยประมาณการ ๑๖,๐๐๐.- สามารถกู้ยืมเงินจาก กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้ โดยผ่อนชำระเป็นงวดได้

 หลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น ๓ – ๑๐ ชม. เช่น ช่างตัดผม ทำอาหารปาท่องโก๋ ช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ ช่างซ่อมเครื่องไฟฟ้า ช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทางสถาบันจะส่งวิทยากรมาอบรม ณ ที่ตั้งหน่วย พร้อมรับใบประกาศนียบัตรในทุกหลักสูตร

นอกจากนี้เรายังได้เสนอให้ตั้งศุนย์การเรียนรู้ตามแนวพ่อหลวงของเราเป็นแคมปัสย่อยของทั้งสองสถาบันในเรื่อง ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และการเกษตร ณ พื้นที่ดอนเมือง เพื่อที่จะลงทุนในเรื่องอุปกรณ์สื่อการสอน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายอีกด้วย ทั้งนี้เป็นระยะเริ่มต้นของการตกลง ซึ่งจะสามารถเปิดการศึกษาได้ในปีการศึกษา ๒๕๕๔ นี้ มีข้าราชการ และพลทหารกองประจำการให้ความสนใจลงชื่อสมัครเข้ารับการศึกษากว่า ๑๕๐ คน

หมวดหมู่:ข่าวสาร
  1. ยังไม่มีความเห็น
  1. No trackbacks yet.

ใส่ความเห็น